
มิติใหม่ ‘พานไหว้ครู’ หนุน #สมรสเท่าเทียม พรึบหลายโรงเรียน
สืบเนื่องจากกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และคณะ โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 210 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง สามารถสรุปได้ว่า มติสภาผู้แทนราษฎร โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระแรก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา
เรียกว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นเริ่มต้นเดือนมิถุนายน เดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ของชาวแอลจีบีทีคิว+ เรื่องของการต่อสู้เพื่อได้รับความเท่าเทียมทางเพศ ความเสมอภาค ได้รับการนำเสนอและเข้าถึงทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงรั้วโรงเรียน สะท้อนผ่าน “พานไหว้ครู” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำโรงเรียน ที่โดยปกติแล้วจะจัดพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดีแรก หลังเปิดภาคเรียน ทว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายโรงเรียนมีกำหนดการเปิดภาคเรียนไม่ตรงกัน ด้วยต้องปรับไปตามบริบทของสถานที่ ทว่าโดยส่วนมากต่างทยอยเปิดภาคเรียนไปแล้ว ในเดือนมิถุนายนนี้
ขณะเดียวกันโลกออนไลน์ต่างแชร์ภาพพานไหว้ครู ในปี 2565 ซึ่งในหลายๆ โรงเรียน นักเรียนต่างแสดงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ผ่าน “พานไหว้ครู” ที่มีทั้ง ธงเฉดสีรุ้ง 6 สี, ทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน, คำว่า LGBTQ+ เป็นต้น
รวมไปถึง ผู้ถือพานไหว้ครูที่ไม่จำกัดเพียงแค่ ชาย-หญิง เท่านั้น แต่เป็นนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้ถือพานอีกด้วย