
กรณีนักเรียนหญิงชั้น ม.2 โรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ตกลงมาจากอาคารเรียนชั้น 8 จนเสียชีวิตนั้น
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นทราบว่าเด็กไม่ได้กลับบ้านมาตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม จึงมีแนวโน้มว่าเด็กอาจจะอยู่โรงเรียนทั้งคืน หรืออาจจะมาโรงเรียนแต่เช้า จากการที่ครูและโรงเรียนตรวจสอบในอาคารเรียนพบว่าบริเวณหน้าลิฟต์โดยสารชั้น 8 พบกระเป๋าใส่หนังสือเรียนและสิ่งของสัมภาระจำนวน 2 ใบ และถุงเท้า รองเท้าวางอยู่บนระเบียงทางเดิน จึงสันนิษฐานว่าเด็กอาจจะตกลงมาจากชั้น 8 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบหามูลเหตุ แรงจูงใจของนักเรียนคนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุช เทียนมอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษามาตลอด เช่น ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยของนักเรียนและสถานศึกษา แต่ยังเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอยู่ตลอด แสดงว่ามาตรการในการควบคุมกำกับดูแลอาจจะไม่เข้มข้นพอ
“มองว่าวันนี้โรงเรียนและผู้ปกครอง ต้องร่วมกันดูแลช่วยเหลือ ติดตามนักเรียน เช่น ถ้าผู้ปกครองพบว่าเด็กไม่กลับบ้าน ให้รีบติดต่อครู เพื่อให้ครูช่วยติดตามเด็กอีกทางหนึ่ง พร้อมกับติดต่อกับเพื่อนของนักเรียนเพื่อช่วยกันดูแล จะทำให้เข้าถึงปัญหาของเด็กได้ง่ายขึ้น โดยครูจะต้องดูแลนักเรียนไปดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล และในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ผมจะประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อย้ำให้โรงเรียนเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน” นายอัมพรกล่าว
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า
เบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลสภาพจิตใจผู้ปกครอง รวมถึงให้ความช่วยเหลือ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยดูแลเรื่องสภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด เท่าที่ทราบนักเรียนรายดังกล่าวมีภาวะเครียดจากปัญหาครอบครัว
“เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้น จึงได้กำชับครูและผู้เกี่ยวข้อง ให้เคร่งครัดเรื่องมาตรการดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยจะต้องสังเกตอาการเด็กแต่ละคนอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติ อาทิ ภาวะซึมเศร้า อาจประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นกรมสุขภาพจิต ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเปิดเรียนออนไซต์ จะช่วยบรรเทาความเครียดให้กับเด็ก เพราะจะได้มีการพูดคุย เพื่อระบายสิ่งต่างๆ ทั้งกับครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ดังนั้น จึงควรเร่งดำเนินการเปิดเรียนออนไซต์ให้ได้โดยเร็วที่สุด” นางเกศทิพย์กล่าว