
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม จากกรณีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนใหม่ โดยถูกสังคมตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการสรรหา การขาดการมีส่วนร่วมของประชาคมมหาวิทยาลัยและปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยในการสรรหา ล่าสุด ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 3 คน ได้ร่วมกัน เขียนจดหมายเปิดผนึก เรื่อง การสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งถึง ประธานสภามหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกท่าน มีรายะเอียดระบุว่า
สภาม.เชียงใหม่ เสนอ “พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล” นั่งอธิการบดีคนใหม่
‘รศ.สมชาย’ เขียนถึงประชาคม มช. ‘เมื่อผมไม่ได้เป็นอธิการบดี’
ตามที่ผู้ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีทั้งสามท่าน ซึ่งประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์ ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทัศนัย เศรษฐเสรี
ได้รับความไว้วางใจจากคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเสนอชื่อให้เป็นผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ตอบรับการทาบทามเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งได้เข้าพบคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายในการบริหารมหาวิทยาลัย ในวันที่ศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น ในตลอดกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผ่านมา ผู้ได้รับการทาบทามฯ ทั้งสาม ต่างเห็นร่วมกันว่ากระบวนการสรรหาฯ ที่ผ่านมา มีปัญหาที่สำคัญในหลายระดับ ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส แต่ยังสะท้อนการรวบอำนาจการตัดสินใจและปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อกระบวนการที่มีความสำคัญยิ่งนี้ด้วย และเห็นร่วมกันว่าควรที่จะได้ถ่ายทอดปัญหาดังกล่าวออกสู่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ประชาคมมหาวิทยาลัย และสาธารณชน ดังมีรายละเอียด ดังนี้
1. ความไม่โปร่งใสของกระบวนการสรรหาฯ
ในตลอดกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่างๆ ล้วนดำเนินไปโดยปิดลับ และปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกกรรมการที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ไปจนถึงการตัดสินเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ทั้งนี้ ในขณะที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งมายาวนาน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร ในกระบวนการสรรหาอธิการบดีนั้น ต่างก็มีการเปิดให้ผู้ที่ได้รับการทาบทามฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาคมมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาคมได้มีโอกาสได้รับรู้ แลกเปลี่ยน ซักถาม ตลอดจนเสนอข้อคิดเห็นต่อวิสัยทัศน์ และเพื่อให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีนั้น จะได้เข้าใจปัญหาและความต้องการของประชาคมของมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยยังได้จัดให้มีการหยั่งเสียงโดยคณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นช่องทางในการสะท้อนเสียงของประชาคมต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และเพื่อนำเสียงของประชาคมมาประกอบการพิจารณาในการสรรหาอธิการบดี แต่กระบวนการดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาคมมหาวิทยาลัย หรือการหยั่งเสียงเลือกอธิการบดี กลับไม่ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แต่อย่างใด กระบวนการสรรหาฯที่เกิดขึ้น จึงดำเนินไปโดยปราศจากการมีส่วนร่วมใดๆจากคณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
อนึ่ง ในการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยยังกำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อนั้น จะต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งได้ทำให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 3,000 คน ถูกกีดกันออกจากการมีสิทธิเสนอชื่อผู้สมควรตำแหน่งอธิการบดีอีกด้วย ซึ่งถือเป็นความไม่เป็นธรรม และสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นในกระบวนการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. การขัดแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of interest)
ความไม่เป็นธรรมประการสำคัญของกระบวนการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แก่การที่การกลั่นกรองของคณะกรรมการสรรหาฯ วางอยู่บนข้อกำหนดให้วิสัยทัศน์ (Vision)
และแผนดำเนินงาน (Action Plan) ของผู้ได้รับการทาบทามให้เป็นอธิการบดี จะต้องเป็นไปเพื่อ “ให้บรรลุเป้าหมายตามทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด” เท่านั้น ดังระบุในจดหมายขอทาบทามความสมัครใจเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี และเอกสารแนบหมายเลข 3 ทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในระยะ 4 ปีข้างหน้า และ เป้าหมายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยอ้างอิงตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13
การกำหนดแนวทางกลั่นกรองดังกล่าว สร้างปัญหาในอย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน ได้แก่
ประการแรก การปิดกั้นการรับฟังและพิจารณาวิสัยทัศน์และแผนดำเนินงานที่แตกต่างไปจากแผนฯ ที่กำหนดไว้แล้วโดยมหาวิทยาลัย ซึ่งมีแนวทางและวิธีคิดที่มุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดที่ดำเนินมาในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ดังที่ผู้ได้รับการทาบทามฯ ทั้งสาม ได้ชี้แจงให้คณะกรรมการสรรหาฯ และสาธารณชนได้รับทราบก่อนหน้านี้แล้วว่า ทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยและแผนการพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นเต็มไปด้วยปัญหานานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างบริหารงานที่รวมศูนย์อำนาจจากบนลงล่าง การตัดขาดการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย การมุ่งเน้นแต่การไต่อันดับการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกในขณะที่ลดทอนคุณภาพด้านสวัสดิการ ความไม่มั่นคงด้านการจ้างงาน และภาระงานที่บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงาน จนก่อให้เกิดภาวะสมองไหลขึ้นในมหาวิทยาลัย การไม่ใส่ใจต่อการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดของนักศึกษาและคณาจารย์ ตลอดจนการมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่อ่อนแอ
การที่คณะกรรมการสรรหาฯ ยืนยันที่จะยึดเกณฑ์การกลั่นกรองตามแผนการพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยที่ดำเนินอยู่เป็นสำคัญ โดยไม่รับฟังข้อเสนอเชิงปฏิรูปของผู้ได้รับทาบทามฯทั้งสาม หรือเปิดให้ผู้ได้รับทาบทามฯทั้งสาม หรือท่านใดท่านหนึ่งในสามท่าน ได้มีโอกาสในการเสนอข้อเสนอเชิงปฏิรูปมหาวิทยาลัย ต่อสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงนับเป็นการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง อีกทั้งยังปิดกั้นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย
ประการที่สอง การกำหนดแนวทางการกลั่นกรองที่พิจารณาเพียงการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยและแผนพัฒนาการศึกษาที่ดำเนินอยู่แล้ว ย่อมเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ได้รับการทาบทามฯ บางท่าน ที่มีส่วน และมีบทบาทในการพัฒนาทิศทางและแผนพัฒนามหาวิทยาลัย และนำไปสู่การสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ได้รับการทาบทามฯที่ดำรงตำแหน่งภายในระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แนวทางการกลั่นกรองดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในกระบวนการสรรหาฯ เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีผู้ได้รับการทาบทามฯ เพียงท่านเดียว ได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อสภามหาวิทยาลัย ในขณะที่ผู้ได้รับการทาบทามฯ อีกสามท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีวิสัยทัศน์และแนวทางในการปฏิรูปมหาวิทยาลัยนั้นกลับไม่ได้รับการคัดเลือกแต่อย่างใด ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนความขัดกันแห่งผลประโยชน์ในกระบวนการสรรหาฯ เป็นอย่างดี
ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น นับเป็นปัญหาที่ใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นปัญหาที่สะท้อนโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัยที่ไม่โปร่งใส ปราศจากการเปิดรับฟังเสียงและความพยายามในการปฏิรูปการบริหารมหาวิทยาลัย ไปสู่ทิศทางที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ละเลยสิทธิและเสียงของประชาคมของมหาวิทยาลัย และปิดกั้นการมีส่วนร่วมในทุกระดับของประชาคมของมหาวิทยาลัย ทั้งที่ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยระบุว่ายึดถือมาโดยตลอด ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ผู้ได้รับการทาบทามทั้งสาม จึงใคร่ขอเรียกร้องให้มีการทบทวนกระบวนการสรรหาฯที่เกิดขึ้น ตลอดจนทบทวนผลของกระบวนการสรรหาฯ เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม และเพื่อที่ตำแหน่งการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะได้ยึดโยงกับประชาคมมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง