Heading South หลังอาณานิคมของประเทศเฮติ

ประเทศเฮติเป็นฉากหลังของ Heading South ”หลังอาณานิคม”

Heading South เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน เยื้องลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 กระทั่งประกาศอิสรภาพสำเร็จในปี 1804 เนื้อเรื่องเล่าถึง ปี 1915 ความระส่ำทางการเมืองและเศรษฐกิจนำพาให้สหรัฐรุกรานและยึดครองเฮติ ประเทศถูกเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งทางการเมืองและสังคม สู่รูปแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมและการรวมศูนย์อำนาจ เกิดกบฏกองโจรชาตินิยมต่อต้านสหรัฐ

แม้สหรัฐจะถอนตัวไปในปี 1934 แต่รัฐบาลเฮติสืบต่อมานับแต่ปี 1950 ที่เกิดการรัฐประหาร จนถึงยุคเผด็จการทรราชตระกูลดูวาลิเยร์ (1957-1986) ซึ่งมีทหารให้การสนับสนุนนั้น เชื่อกันว่าล้วนแต่มีสหรัฐอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น และเวลาอันเป็นฉากหลังของ Heading South ที่ว่าด้วยหญิงสาวชาวอเมริกันมาหาความสำราญในเฮติก็อยู่ในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังจะกล่าวถึงเฮติในช่วงปลายทศวรรษ 70 ซึ่งสหรัฐชักใยผู้นำเผด็จการอยู่ แต่บทบาทของสหรัฐในเฮติไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น ในปี 1994 สหรัฐในยุคคลินตันได้เปิดฉากรุกรานเฮติรอบใหม่โดยอ้างความวุ่นวายทางการเมืองเช่นเดิม เรื่อยมาจนถึงปี 2004 ที่บุชจูเนียร์ส่งทหารเข้าไปประจำการในเฮติแบบรวดเร็วทันใจ หลังจากบีบให้อดีตประธานาธิบดี ฌอง แบร์ทรองด์ อริสตีด ลงจากอำนาจและออกนอกประเทศ ซึ่งนายอริสตีดนี้ก็คือบุคคลเดียวกับที่สหรัฐพากลับสู่บัลลังก์หลังจากโดนรัฐประหารเมื่อปี 1994

หนังปี 2005 เรื่อง Heading South จึงเป็นเหมือนภาพเปรียบเทียบถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่มีอิทธิพลเหนือเฮติตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ศตวรรษ ทั้งในหน้าประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัย โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวของตัวละครหญิงชาวสหรัฐที่โหยหาต้องการเด็กหนุ่มผิวสีชาวพื้นเมือง จะต่างไปตรงที่วิธีที่พวกเธอใช้ในการยึดครองหาใช่กำลังทหารหรืออำนาจบาตรใหญ่ หากคือ “ดอลลาร์อเมริกัน”

ฉากหลังกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ที่เต็มไปด้วยทหารถืออาวุธ มีตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวระรานชาวบ้าน ท่ามกลางความยากจนข้นแค้นอยู่กันอย่างแออัดของผู้คน กับภาพหาดสวรรค์ของนักท่องเที่ยวชาวผิวขาวที่นอนอาบแดดพูดคุยอย่างมีความสุข โดยมีคนพื้นเมืองผิวสีคอยรับใช้ เป็นภาพขัดแย้งที่หนังวางไว้เป็นหลัก ก่อนจะค่อยๆ สมทบด้วยเรื่องราวรายละเอียดของตัวละครตอกย้ำให้เห็นว่า “คุณค่า” ของเฮติในสายตาคนผิวขาวเป็นเช่นไร

ตัวละคร เบรนด้า สาวใหญ่วัย 45 ชาวจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่อาจลืมรสสัมผัสของเลกบา เด็กหนุ่มอายุ 15 เมื่อ 3 ปีก่อน ได้ย้อนกลับมาหาเขาอีกครั้ง หลายครั้งที่เธอแสดงให้เห็นว่าตนเองรักและห่วงใยเลกบาราวกับคนพิเศษ ซื้อเสื้อผ้าทันสมัยให้ใส่จนเด็กหนุ่มดูแปลกต่างไปจากคนพื้นเมืองคนอื่น ทั้งยังร้องไห้คร่ำครวญเป็นห่วงเป็นใยยามที่เขาตกอยู่ในอันตราย นอกจากนี้ เบรนด้ายังบอกว่าเธอไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลยเมื่ออยู่ที่บ้านเกิด

ส่วน เอลเลน ครูสอนภาษาฝรั่งเศสวัย 55 ปี ผู้เชื่อว่าไม่มีที่สำหรับผู้หญิงอายุเกิน 40 ปี ในบอสตัน เธอจึงมาพักผ่อนที่เฮติช่วงปิดภาคเรียนติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว เอลเลนพักที่รีสอร์ตแห่งเดิมเสมอเพราะติดใจในความสวยงาม ความสะอาด กระทั่งรู้สึกว่าที่นี่เหมือนบ้าน ขณะเดียวกัน เธอกลับพูดถึงปอร์โตแปรงซ์และเฮติว่าเหมือนกองมูลหรือคอกสัตว์ซึ่งไม่เหมาะกับเด็กหนุ่มผู้งดงามอย่างเลกบา

ขณะที่ ซู สาวออฟฟิศร่างอ้วนมาที่เฮติด้วยความรู้สึกราวกับเป็นผีเสื้อ มีอิสระ มีชีวิตชีวา ต่างจากที่สหรัฐที่แม้แต่การมีความสัมพันธ์กับใครสักคนกลับเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วน ซูบอกว่าเธอรักชายผิวสีซึ่งเป็นเพื่อนข้างกายของเธอ ทั้งย้ำว่าชายผิวสีที่สหรัฐมีตั้งมากมาย แต่ไม่ดึงดูดใจเธอเท่าที่นี่

จากมุมมองของ 3 สาว เห็นได้ว่าพวกเธอรู้สึกกับเฮติเสมือนเป็นโลกอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างจากบ้าน เป็นสถานที่ที่พวกเธอสามารถตักตวงความสุขได้เต็มที่ด้วยการจับจ่ายซื้อหา ที่สำคัญ เฮติที่มีคุณค่าในสายตาของพวกเธอมีขอบเขตเพียงแค่ชายหาดงดงามราวสวรรค์แห่งนี้เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงความทุกข์ยากหวาดกลัวหรือความแร้นแค้นของผู้คนที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ทั้งที่ความทุกข์รายล้อมนี้สาหัสสากรรจ์กว่าเรื่องทุกข์ใจที่ผลักดันพวกเธอมาที่นี่ด้วยซ้ำ

แม้สถานะของสถานที่และผู้คนที่ต่ำต้อยด้อยกว่าจะถูกให้ความสำคัญ แต่ในเมื่อคุณค่าที่ถูกเลือกหยิบขึ้นมานั้นเป็นแค่เพียงความสุขสำราญชั่วครั้งคราว ไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างถาวรหรือให้จับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นคุณค่าทางเพศรสที่ตอกย้ำว่าเด็กหนุ่มผิวสีไม่ต่างจากเครื่องประดับของหญิงผิวขาว ทั้งหมดนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ยังหลงค้างอยู่นั่นเอง

อาการ “ติดใจ” เด็กหนุ่มจนต้องย้อนกลับมาของเบรนด้า หรือความรู้สึกราวกับเป็นบ้านจนต้องเดินทางมาทุกปีของเอลเลน เปรียบเทียบได้โดยตรงกับสหรัฐที่ไม่เคยละมือไปจากเฮติ ไม่ว่าจะด้วยการแทรกแซงแบบลับๆ หรือชักแถวเดินเข้ามา “ควบคุม” โดยตรง ด้วยยังมองเห็นผลประโยชน์บางอย่าง

ส่วนเงินดอลลาร์ซึ่งสาวๆ ใช้ล่อใจชาวเฮติให้ตกเป็นเบี้ยล่างและตักตวงความสุขให้ตนเอง หมายถึงระบอบทุนนิยมที่สหรัฐเข้ามาหว่านเพาะในเฮติตั้งแต่การรุกรานครั้งแรก หรืออาจจะรวมไปถึง “การปกป้องทุน” อันเป็นเป้าหมายแฝงเร้นของการให้ท้ายเผด็จการแล้วแทรกแซงประชาธิปไตยในประเทศอเมริกากลางและอเมริกาใต้ของสหรัฐมาโดยตลอด (เช่นที่ปรากฏในงานเขียนของ นอม ชอมสกี้)

การเชื่อมโยงเรื่องสหรัฐกับเฮติดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากมาจากตัวละคร อัลแบรต์ ซึ่งอธิบายตนเองว่าครอบครัวของเขาเกลียดชังสหรัฐยิ่งนัก โดยร่วมรบกับกลุ่มกองโจรชาตินิยมระหว่างที่สหรัฐยึดครองเฮติในปี 1915 แต่วันนี้ตัวเขากลับต้องมาคอยรับใช้ชาวสหรัฐที่ใช้เงินดอลลาร์ก่อความเน่าเฟะให้แก่แผ่นดินเกิด

นอกจากมุมมองและเรื่องราวของตัวละครสาวใหญ่ชาวอเมริกันจะสะท้อนถึงสถานะของคนผิวขาวชาวตะวันตกและลัทธิอาณานิคมแล้ว บทสนทนาและการกระทำของตัวละครได้แสดงนัยยะเกี่ยวกับอาณานิคมเช่นกัน เช่นในฉากที่เอลเลนบอกเลกบาว่าเครื่องดื่มที่เขาละเลียดอยู่นั้นคือ “เตกีล่า ซันไรส์” แล้วอธิบายความหมายของคำว่า “ซันไรส์” เป็นภาษาฝรั่งเศสอีกทีหนึ่ง

คำว่า “พระอาทิตย์ขึ้น” นี้ ชวนให้นึกถึงประโยคว่า “จักรวรรดิซึ่งพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” อันเป็นสโลแกนที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดินิยมในอดีต เริ่มใช้โดยสเปน อังกฤษ จนมาถึงปัจจุบันซึ่งสหรัฐได้อ้างประโยคนี้เช่นกันในฐานะชาติมหาอำนาจหนึ่งเดียวที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก

หรือในฉากที่เอลเลนถ่ายภาพเลกบานอนเปลือยคว่ำหน้าอยู่บนเตียง เลกบาถามว่าไม่ให้เขานอนหงายหรือ เอลเลนตอบว่า “ฉันอยากเห็นแค่ใบหน้าเธอยามหลับกับบั้นท้ายของเธอ” ประโยคดังกล่าวสามารถตีความเชื่อมโยงได้ถึงท่าทีของสหรัฐที่ต้องการให้เฮติอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสงบ ระหว่างที่สหรัฐย่องเข้ามาแทรกแซง

Heading South ดัดแปลงจากเรื่องสั้น 3 เรื่องของ ดานี ลาเฟริแยร์ นักเขียนผิวสีชาวเฮติผู้อพยพลี้ภัยมาอยู่แคนาดาในช่วงที่เฮติอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลดูวาลิเยร์ งานเขียนของเขาจึงสะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับสหรัฐและเฮติในยุคเผด็จการได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าในเมื่อหนังเรื่องนี้แสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ฝังแน่นในทัศนคติของชาวตะวันตกผิวขาว แต่ขณะเดียวกันกลับมีนัยยะสื่อถึงการรุกรานของสหรัฐต่อเฮติอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ท่าทีดังกล่าวไม่ขัดแย้งกันเองหรือ

คำตอบคือไม่…ทั้งนี้เพราะ Heading South เป็นหนังสัญชาติฝรั่งเศส โดยผู้กำกับฯชาวฝรั่งเศส ถ้าหากจะทำหนังว่าด้วยเฮติซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของพวกเขามาก่อนโดยให้สหรัฐรับบทผู้ร้าย ย่อมเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว

ที่มา : MThai

รีวิวหนัง โหด มัน ฮา แบบไม่เหมือนใคร เอาใจคนชอบบทสรุปของหนังไทย หนังเทศ หนังชนโรง หนังออนไลน์ ไปจนถึงหนังฮิต ติดลมบน ของ netflix  ติดตามอ่านทั้งหมด ได้ที่  have-a-look.net