ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช องค์ประกันหงสา

เรื่องราวในภาคนี้ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช องค์ประกันหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช การได้ชมภาพยนตร์เรื่อง ถือเป็นความสมใจที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของปีนี้ หลังจากที่เฝ้ารอมานานเป็นปีสองปี กับ ตำนาน วีรกษัตริย์ไทย ฉบับไตรภาค ที่ประเดิมด้วยภาคแรกในชื่อ องค์ประกันหงสา ที่จบลงด้วยความประทับใจยิ่ง

ดูเหมือนว่า ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย จะเก็บเอาข้อบกพร่องจากเมื่อครั้ง สุริโยไท มาปรับใช้กับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนออกมาเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่มาพร้อมความบันเทิง จนออกมาเป็นหนังที่ดูสนุก ได้ความรู้ ที่สำคัญหนังเปี่ยมด้วยพลังในการ ปลุกใจไทยรักชาติ ที่ออกฉายในจังหวะที่พอเหมาะพอดี ในช่วงเวลาที่ ใครสักคน กับ ใครอีกหลายคน ที่กำลังมุ่งทำลายประเทศไทย ด้วยการสร้างความแตกแยก อย่าง หน้าด้าน และไร้ยางอาย

ในภาคแรกที่ชื่อ องค์ประกันหงสา หนังเล่าเรื่องตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง มีชัยต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวร ราชโอรสองค์โตให้ไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์พม่า โดยขณะนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระชนมายุเพียง 9 ชันษา

เรื่องราวในภาคนี้จึงเป็นเรื่องราวในช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระนเรศวร ที่บทหนังตั้งใจแสดงให้เห็นถึงชีวิตในช่วงวัยเยาว์ที่ไม่ต่างจากเด็กๆ อื่นๆ ทั่วไป ที่เล่นซุกซน ไปตามเรื่อง เช่น แอบไปตีไก่, แอบปีนกุฏิพระ หากแต่ที่แตกต่างจากเด็กทั่วไปคือ ท่านทรงเป็นเด็กชายที่มีจิตใจรักต่อแผ่นดินบ้านเกิดอย่างแรงกล้า และทรงมุ่งมั่นที่จะเห็นแผ่นดินไทยปกครองโดยคนไทย

ด้วยเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่แน่นอนว่า ชาติไทยต้องเป็นพระเอก ขณะที่ชาติที่มารุกรานต้องกลายเป็นผู้ร้าย แต่ในยุคสมัยที่โลกทั้งโลกถูกเชื่อมต่อกันจนดูเล็กลง การที่นำเสนอเรื่องราวให้ ชาติอื่นเป็นผู้ร้าย ถือเป็นเรื่องที่ เสี่ยงต่อความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกกล่าวถึงในเรื่อง

ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า บทหนังพยายามบรรจงเขียนอย่างระมัดระวัง มิให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงต้องขุ่นข้องหมองใจ ที่อาจทำลายความสัมพันธ์อันดีในยุคปัจจุบัน

ฉะนั้น ที่ผู้ชมจะได้เห็นในหนังก็คือ พระเจ้าบุเรงนอง ที่ถูกเรียกว่า พระเจ้าบาเยงนอง ที่ทรงขอ สมเด็จพระนเรศวร หรือ พระองค์ดำ พระองค์ทรงให้ความเอ็นดูพระองค์ดำ และมองเห็น จิตวิญญาณของมหาบุรุษ อยู่ในองค์ สมเด็จพระนเรศวร อย่างไม่อาจปฏิเสธ รวมทั้งตัวละครทั้งฝ่ายไทยและหงสาต่างก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดีเป็นธรรมชาติของมนุษย์

ขณะที่ฝ่ายหงสามี มังเอิน (พระเจ้านันทบุเรง) พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนอง กับ มังสามเกียด พระราชนัดดา ที่อิจฉาริษยาพระองค์ดำ แต่ฝ่ายไทยเราก็มี พระยาจักรี (ไพโรจน์ ใจสิงห์) ที่เป็นไส้ศึกคนสำคัญที่ทำให้เราต้องปราชัย

สำหรับบท สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ที่ทรงหันไปยอมเข้ากับฝ่ายหงสา จนเป็นเหตุให้อยุธยาต้องแพ้พ่าย ที่เสี่ยงต่อการถูกผู้ชมที่เป็นคนไทยรุ่นหลังเกลียดชัง ได้ถูกตีความให้เห็นว่า การที่พระองค์ทรงหันไปเข้ากับฝ่ายพม่า เป็นเพราะว่าทรงน้อยพระทัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน

ในส่วนเรื่องราวหลักของหนัง หนังทำให้เห็นว่า การเกิดมาในฐานะทายาทของกษัตริย์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อเกิดมาในช่วงเวลาที่ประเทศชาติของตนตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองขึ้นของศัตรู ในช่วงเวลาที่แผ่นดินกำลังต้อง ใครสักคน มากอบกู้เอกราชให้กลับคืนมา

หนังในภาคนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า จิตวิญญาณของ มหาบุรุษ มันต้องถูกบ่มเพาะตั้งแต่วัยเด็ก ในการที่ ใครสักคน จะเติบโตขึ้นเป็น มหาวีรบุรุษ ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

หนังเดินเรื่องอย่างรวดเร็ว ข้อดีคือ หนังดูไม่น่าเบื่อ กระชับ ฉับไว ทันใจโจ๋ แต่ข้อเสียคือ ส่วนหนึ่งมันทำให้บทหนังถูกรวบรัด ด้วยไดอะล็อกที่เหมือนตัวละครจะรู้ทันกันล่วงหน้าอยู่แล้ว ประเภทว่า นี่ท่านพี่รู้อยู่แล้ว? ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายฉากจนรู้สึกซ้ำ ที่ทำให้รู้สึกเหมือนเป็น การจับใส่ยัดปากตัวละคร เพื่อให้เรื่องเดินไปโดยเร็ว

ที่เป็นสีสันของหนังก็คือ อารมณ์ขันแบบคาดไม่ถึงที่แทรกเอาไว้อย่างได้ลงตัวในหลายฉาก ที่แน่ๆ ฉากที่จะถูกกล่าวถึงกันแน่นอนก็คือ ฉากที่บุเรงนองตรัสกับพระสุพรรณกัลยาว่า เจ้ามาหาข้ามีอะไรจะบอกข้ารึ อย่าบอกนะว่าข้ารูปงาม ที่เรียกเสียงฮาตึงจากผู้ชม และฮายิ่งกว่าเมื่อบุเรงนองทรงตั้งฉายาให้พระสุพรรณกัลยาว่า เมียวโหย่ว ที่แปลว่า หญิงผู้รักในแผ่นดินบ้านเกิด อะไรประมาณนี้ ด้วยสำเนียงพูดของบุเรงนองในฉากนี้ รับรองว่าชื่อนี้จะต้องถูกนำไปพูดแซวเล่นกันแน่นอน

ด้วยคาแรกเตอร์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของพระเจ้าบุเรงนองไม่ได้เป็นผู้ร้ายจนเกินไป ในด้านหนึ่งการบุกรุกแผ่นดินชนชาติอื่น ถือเป็นหน้าที่ในการขยายอาณาเขตดินแดน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ท่านก็คือมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่มี รัก โลภ โกธร หลง มีเมตตา และมองการณ์ไกล

ในส่วนนักแสดงทำหน้าที่กันได้ดีทุกคน รายที่ให้การแสดงที่โดดเด่นแบบเกินคาดหมายก็คือ สมภพ เบญจาธิกุล ในบท พระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งต้องถือว่านี่เป็นบทที่ดีที่สุดบทหนึ่งในชีวิตของเขา เขาได้บทที่สมคุณค่าและฝีมืออย่างแท้จริง น่าเสียดายที่หนังถูก ยกขึ้นหิ้ง ไม่ส่งเข้าประกวดของสถาบันใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว รับรองว่าเขาต้องเข้าชิงรางวัลและมีสิทธิ์คว้ารางวัลอย่างแน่นอน

สรพงศ์ ชาตรี มากับมาดที่ สงบ อบอุ่น ดูราศีสว่างไสวที่สุด ในบท พระมหาเถรคันฉ่อง ผู้สั่งสอนวิชาและมุมมองชีวิตให้กับสมเด็จพระนเรศวร ทั้งในแบบทางตรงและทางอ้อม

เกรซ มหาดำรงค์กุล ในบท พระสุพรรณกัลยา ที่ถูกวิจารณ์ว่า หน้าแก่ไปหน่อย แต่เมื่อดูแอ็กติงของเธอแล้ว การขึ้นจอครั้งแรกด้วยบทเช่นนี้ ถือว่าเธอทำได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะอารมณ์ในส่วนที่ต้องแสดงถึงความรักชาติรักแผ่นดิน น้องบีเจ – ด.ช.ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์ ทำให้เชื่อได้ว่า เขาคือ พระองค์ดำ ในวัยเยาว์ได้จริงๆ ด้วยลักษณะของเด็กชายผู้มีจิตใจดี มีดวงตาที่มุ่งมั่น ดูมีความคิดความอ่านเป็นผู้ใหญ่กว่าเด็กวัยเดียวกัน ผมประทับใจฉากที่พระองค์ดำทรงอุ้มไก่ไว้แนบอก แล้วพูดให้ขวัญกำลังใจก่อนจะปล่อยลงสนาม ถือเป็นฉากที่มีพลังยิ่ง

กับอีกฉากในตอนจบ ที่พระองค์ดำทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปแตะควาญช้างเบาๆ แล้วตรัสว่า เราไปกันได้แล้ว ฉากนี้แม้เห็นเป็นแค่เงาดำ แต่ด้วยลักษณะทีท่า ท่านั่ง ที่ปรากฏถือว่า สง่างามยิ่ง ในแบบ แอ็กติงไม่มีหลุด แม้ในฉากเล็กๆ (ในความมืด)

สำหรับบทที่เสริมเข้ามาอย่างบท ไอ้บุญทิ้ง (ด.ช.จิรายุ ละอองมณี) น้องเก้า ดูลุคเป็น เด็กไทยยุคเจ-ป๊อป, เค-ป๊อป มากกว่าจะเป็นเด็กไทยในยุคอยุธยา แต่เขาก็เล่นได้น่ารักจนทำให้มองข้ามไปได้ รวมทั้ง น้องดาด้า-ด.ญ.สุชาดา เซ็คลีย์ ที่รับบท มณีจันทร์ก็เป็นความน่ารักสดใสที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ดูซีเรียสจนเกินไป ที่สำคัญทั้งสามเล่นได้อย่างเข้าขากันได้อย่างเห็นถึง มิตรภาพอันอบอุ่นและน่ารัก ในส่วนนี้กลายเป็น หนังเด็ก ที่สุดแสนน่ารัก ที่ซ่อนอยู่ใน หนังอิงประวัติศาสตร์ ในแบบ ทูอินวัน

เป็นกำไรให้คุณผู้ชม ที่ไม่ชมไม่ได้ก็คือ งานด้านกำกับศิลป์ องค์ประกอบฉาก ที่สุดแสนอลังการตระการตาจนอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าไม่ใช่ท่านมุ้ย จะมีใครทำหนังไทยสุดอลังการอย่างนี้ให้เราๆ ท่านๆ ได้ดูกันอีก และเพลงในตอนท้ายเรื่อง ที่สุดไพเราะ แต่น่าเสียดายที่ไม่ยักกะมีการโปรโมตเหมือนเมื่อครั้งเพลงในเรื่อง สุริโยไท ที่คาดว่าจะเป็นเพลงดังสุดฮิตติดชาร์ตได้อีกแน่นอน

นอกเหนือจากความน้อยพระทัยของ พระมหาธรรมราชา ที่เป็นเหตุให้เราต้องเสียกรุงศรีอยุธยา สาเหตุอีกประการก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง 2 ราชวงศ์คือ ราชวงศ์พระร่วง กับ ราชวงศ์สุวรรณภูมิ ที่เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้ได้เห็นว่า ที่แท้แล้ว การที่ประเทศไทยต้องสูญเสียเอกราช มิใช่ด้วยสาเหตุใด นอกจากเป็นเพราะการแตกแยกความสามัคคีของคนไทยด้วยกันแท้ๆ เชียว

นั่นเป็นบทสรุปที่สะท้อนภาพบ้านเมืองไทยในยุคปุจจุบันได้ดียิ่ง ที่จะตั้งคำถามเราๆ ท่านๆ ว่า แล้วเราจะยอมให้มันเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งล่ะหรือ?

น้องบีเจ ออกสตาร์ตได้อย่างสวยงามไปแล้ว ในฐานะ สมเด็จพระนเรศวร ในวัยเด็ก ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของ พ.ต.วันชนะ สวัสดี ที่จะมาสานต่อในบท สมเด็จพระนเรศวรในวัยหนุ่ม

บอกตามตรงว่า แทบจะอดใจรอไม่ไหวเลย

ที่มา : MThai , สยามรัฐ

รีวิวหนัง โหด มัน ฮา แบบไม่เหมือนใคร เอาใจคนชอบบทสรุปของหนังไทย หนังเทศ หนังชนโรง หนังออนไลน์ ไปจนถึงหนังฮิต ติดลมบน ของ Netflix   ติดตามอ่านทั้งหมด ได้ที่  have-a-look.net