
รมว.ศึกษาธิการ ออกนโยบายเข้ม ตั้งไตรภาคีเป็นทีมย่อย สแกนมาตรการความปลอดภัยทุกสถานศึกษา
หลังพบนักเรียนติดเชื้อ ย้ำถ้าพบเด็กติดเชื้อ หยุดสอนแบบ On-Site ปิดสถานศึกษาฆ่าเชื้อทันที
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19
ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ตนได้ติดตามการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาทั่วประเทศ
และพบว่าเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 การเปิดเรียนแบบ On-Site เรียนที่สถานศึกษา จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวด
เรื่องมาตรการความปลอดภัย การปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
เช่น เคร่งครัดให้เด็กสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ฯลฯ ดังนั้น
เพื่อเป็นการสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ที่สถานศึกษา จึงมีนโยบายเร่งด่วนให้หน่วยงาน
ที่มีสถานศึกษาในสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้มข้นเรื่องการตรวจสอบ
มาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชน ว่าได้ปฏิบัติ
ตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ หากสถานศึกษาแห่งใดไม่เป็นไปตามมาตรการ ให้เร่งปรับปรุงทันที
และหากทำไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็ต้องหยุดเรียนแบบ On-Site แล้วเลือกใช้รูปแบบอื่น
ในการจัดการเรียนการสอนแทน เพื่อปรับปรุงในส่วนของสถานศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ เพื่อความความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง
และประชาชนทุกคน
“กระทรวงศึกษาธิการจะได้มอบหมายให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทุกจังหวัด
ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และผู้ปกครอง
ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษา จัดให้มีการนิเทศ ตรวจติดตามทุกแห่งเป็นประจำ
และจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดย่อยจำนวนหลายคณะ ซึ่งเป็นตัวแทนของไตรภาคีในพื้นที่ ลงสแกนสถานศึกษาในพื้นที่ของตนเอง
เพื่อตรวจสอบหาช่องโหว่ และปรับปรุงพัฒนาอุดรอยรั่วในส่วนนั้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความหย่อนยานเรื่องมาตรการความปลอดภัย
ในกรณีที่มีนักเรียนในโรงเรียนนั้น ๆ ติดเชื้อเพียงคนเดียว หรือในชุมชนที่เป็นเขตบริการมีชาวบ้านติดเชื้อ
ก็ให้สถานศึกษาขอความเห็นชอบกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปิดเรียนแบบ On-Site เพื่อทำความสะอาด
แล้วเลือกใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นในระหว่างที่ปิดสถานศึกษา เช่น การเรียน Online
ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการเรียน On-Hand โดยจัดส่งหนังสือ แบบเรียน แบบฝึกหัด หรือใบงานให้นักเรียนทำที่บ้าน เป็นต้น
ดิฉันมั่นใจว่า การที่มีคณะกรรมการชุดย่อย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จำนวนหลายชุด จะทำให้สามารถสแกนสถานศึกษาทุกแห่ง
แล้วเสร็จโดยเร็ว และได้ข้อมูลจริง สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าสถานศึกษา
เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโควิด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร
ศธ.กำหนดรายละเอียดของโครงสร้าง องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่พร้อมแนวปฏิบัติที่ชัดเจนของคณะกรรมการไตรภาคี
เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว