Dreamgirls รางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

รางวัลลูกโลกทองคำ Dreamgirls สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

Dreamgirls  “ดรีมเกิร์ลส์” เปิดเรื่องอย่างครึกครื้นด้วยเสียงขับร้องของ เอฟฟี่ ไวต์ (เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน), ดีน่า โจนส์ (บียอนเซ่ โนวล์ส) และ ลอร์เรลล์ โรบินสัน (แอนนิก้า โนนี่ โรส) 3 สาววง “เดอะ ดรีมเม็ตต์ส” ผู้ใฝ่ฝันอยากจะโด่งดังในวงการเพลง และแล้วโอกาสก็ทอดมาหา เมื่อพวกเธอเป็นที่ต้องตาของอดีตเซลส์ขายรถที่ฝันจะตั้งบริษัทเพลงขึ้นมาใหม่

ซึ่งเขาก็กำลังมองหาศิลปินที่มีพรสวรรค์อยู่พอดี ว่าแล้วเคอร์ติส (เจมี่ ฟอกซ์) หนุ่มคนที่ว่า ก็จัดการส่งสามสาวไปร้องแบ๊คอัพให้นักร้องชื่อดังอย่าง เจมส์ เออร์ลี่ (เอ็ดดี้ เมอร์ฟี่ย์) พอคุ้นเวทีได้ที่ก็จัดแจงปั้นพวกเธอให้เป็นนักร้องเต็มตัวในนาม “เดอะ ดรีมส์” ในที่สุด

หนังปลุกอารมณ์คึกคักของเราด้วยเพลงมันส์ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นก็จริง ทว่าในตอนต่อมา ผู้กำกับฯก็ค่อยๆ เผยให้เราเห็นถึงปมขัดแย้งหนักๆ ที่ว่าด้วยอคติแห่งสีผิว โดยเหล่านักร้องนักปั้นที่เราเห็นว่ามีความสามารถเหลือหลายในตอนแรก กลับกลายเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองที่ไม่เคยได้รับการยอมรับจากอเมริกันชนผิวขาว

ที่น่าเจ็บใจยิ่งกว่านั้นก็คือ พวกเขาถูกคนกลุ่มหลังนำผลงานเพลงที่สร้างมากับมือไปปรุงแต่งเสียใหม่ แล้วนำไปเผยแพร่และหาผลประโยชน์ จนคนทั่วไปเข้าใจว่ามันเป็นงานที่สร้างสรรค์โดยคนผิวขาว ไม่ใช่ชาวอเมริกันพื้นเมือง

ในการนี้ หนังได้ย้ำให้เราเห็นถึงความไม่พอใจของคนผิวสีที่มีต่อคนขาว โดยการนำภาพการประท้วง อันเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ชาติมะกัน มาฉายสลับเป็นระยะๆ ซึ่งแม้จะดูโดดออกมาจากเรื่องราวที่ดำเนินอยู่ แต่ก็ส่งเสริมกันดีในแง่การสื่อสาระของเรื่อง

ใช่ว่าจะนำเสนอเพียง “ความขัดแย้งภายนอก” ให้เราขัดเคืองแต่ชนผิวขาว เพราะหนังยังเล่าถึง “ความขัดแย้งภายใน” ของเพื่อนร่วมชาติพันธุ์เดียวกันอีกด้วย กล่าวคือ นอกจากจะต้องต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบของคนขาวแล้ว เหล่าตัวละครในเรื่องยังต้องมาขัดแย้งกันเองเพราะผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวอีกด้วย

ในหนัง หนึ่งสาวจาก “เดอะ ดรีมส์” ต้องโบกมือลาอาชีพ เพียงเพราะคนปลุกปั้นมองว่าเธอไม่สวยพอที่จะเป็นนักร้องนำ ทั้งๆ ที่ความสามารถของเธอโดดเด่นกว่าใครในวงเสียอีก เมื่อรับไม่ได้กลับการต้องถอยฉากไปร้องคอรัส เธอจึงเลือก (แกมถูกบังคับอยู่ในที) ให้ออกจากวงจนกลายไปเป็นดาราตกอับในที่สุด

ส่วนอีกหนึ่งสาวก็ต้องเจ็บช้ำเมื่อได้รู้ความจริงว่า เธอถูกผลักดันให้เป็นตัวขายของวงเพียงเพราะว่า เสียงของตัวเองขาดพลังและไร้เอกลักษณ์ จนโปรดิวเซอร์มองว่าง่ายต่อการปรุงแต่งให้ไปในทิศทางที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับนักร้องชายอีกคนที่รู้ตัวในที่สุดว่า แท้จริงแล้วเขาไม่ได้ถูกปูทางให้เป็น “ศิลปิน” หากเป็นเพียงสินค้าที่นายทุนหวังจะใช้เพื่อหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

รางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแบ่งออกป็น 2 ประเภทคือ ภาพยนตร์ดราม่า และภาพยนตร์เพลงหรือตลก ซึ่งในการประกวดครั้งล่าสุด หนัง “ดรีมเกิร์ลส์” ก็ได้เข้าชิงในประเภทหลัง แถมยังคว้ารางวัลที่ว่าไปครองเสียด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับทีมผู้สร้างและนักแสดง

ทว่าที่ชวนให้เข้าใจผิดอย่างยิ่งก็เห็นจะเป็นเหล่าผู้ชมนี่แหละ เพราะคนทั่วไปดูจะทำท่าไม่รู้ไม่ชี้กับคำเชื่อม “หรือ” ในคำว่า “ภาพยนตร์เพลงหรือตลก” แล้วทึกทักใส่คำเชื่อม “และ” เข้าไปแทน พร้อมฟันธงว่า “ดรีมเกิร์ลส์” ต้องป็นหนังเพลงที่ตลกจนถึงขั้นเบาสมองแหงมๆ

ที่มา : MThai

รีวิวหนัง โหด มัน ฮา แบบไม่เหมือนใคร เอาใจคนชอบบทสรุปของหนังไทย หนังเทศ หนังชนโรง หนังออนไลน์ ไปจนถึงหนังฮิต ติดลมบน ของ netflix  ติดตามอ่านทั้งหมด ได้ที่  have-a-look.net