สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ระบาด ประชาชนควรอยู่ที่บ้าน 14 วัน
เพื่อเฝ้าระวังอาการ นอกจากจะไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นแล้ว ต้องเลือกปรุงและกินอาหารให้เหมาะสม
ถูกหลักโภชนาการ โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
วิธีการเก็บอาหาร
1. ข้าวสารและอาหารแห้งต่างๆ ให้เก็บในที่แห้ง ในภาชนะที่ปิดมิดชิด ระวังมอด มด หนู แมลงสาบ ฯลฯ
2. ไข่ เก็บในตู้เย็น เอาด้านแหลมลงล่าง ด้านป้านขึ้นบน
3. เนื้อสัตว์ จำพวก เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ให้ล้าง แล้วหั่นเป็นชิ้น แบ่งใส่ถุงเป็นมื้อ (ขนาดใช้ 1 ครั้ง)
ทำให้แบนเพื่อเพิ่มพื้นที่การเก็บ มัดปากถุงให้แน่น เก็บในตู้เย็นช่องแช่แข็ง
4. อาหารทะเล เช่น กุ้งสด ปลาหมึกสด ให้ล้าง และตัดส่วนที่ไม่ใช้ทิ้งไปก่อน แล้วแบ่งใส่ถุงเป็นมื้อ
(ขนาดใช้ 1 ครั้ง) มัดปากถุง นำไปแช่ในตู้เย็นช่องแช่แข็ง
5. ผักใบต่างๆ เช่น ผักชี ต้นหอม กะเพรา โหระพา ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษซับน้ำมันแล้วใส่ถุง
มัดปากถุงให้แน่น เก็บในช่องผัก เมื่อจะใช้ค่อยนำออกมาล้าง
6. ผักประเภทหัว เช่น แครอท กะหล่ำปลี บรอกโคลี ห่อด้วยด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษซับน้ำมัน
เก็บในตู้เย็นช่องเก็บผัก เมื่อจะใช้ค่อยนำออกมาล้าง
7. เครื่องแกงที่ตำเอง ให้เก็บใส่ถุงและมัดปากถุง โดยแบ่งเป็นส่วนๆ ตามปริมาณที่จะใช้ 1 ครั้ง
8. ผลไม้ที่มีเปลือกหนา เช่น แตงโม ส้มโอ สามารถเก็บได้นานที่อุณหภูมิห้อง
9. ผลไม้เปลือกบางและไม่มีเปลือก
– กล้วย เด็ดเป็นลูก เพื่อไม่ให้สุกเร็ว ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เก็บในตู้เย็นช่องเก็บผัก
– ส้ม แอปเปิล ฝรั่ง สาลี่ ชมพู่ ล้างแล้วเช็ดให้แห้ง ใส่ในถุงกระดาษเจาะรู หรือห่อด้วยกระดาษที่ไม่มีลวดลาย
เก็บในตู้เย็นช่องเก็บผัก
10. อาหารที่ไม่จำเป็นต้องแช่ในตู้เย็นเพราะมีอายุการเก็บนาน ได้แก่ ฟักทอง เผือก มัน มันฝรั่ง
หอมหัวใหญ่ แตงโม น้ำมัน มะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ ของดอง ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะทำให้เสียเร็วกว่าอยู่ข้างนอก
การปรุงประกอบอาหาร
1. อาหารประเภทผักสด เนื้อสัตว์สด ต้องล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุง
2. ก่อนนำเนื้อสัตว์แช่แข็งมาปรุงอาหาร ให้นำมาวางไว้ในช่องธรรมดาก่อนเพื่อให้มีการคลายความเย็น
ไม่ควรนำอาหารที่แช่แข็งไปแช่ในน้ำร้อน จะทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง
3. ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อน
4. มีการปกปิดอาหารปรุงสำเร็จ และอาหารพร้อมบริโภคทุกชนิด
5. ไม่วางอาหารและภาชนะบรรจุอาหารบนพื้นโดยตรง
6. รับประทานอาหารภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงประกอบ
7. ผู้เตรียม/ปรุงอาหารต้องสวมผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผมและควรมีผ้าปิดปากขณะปรุง ตักอาหาร
8. ผู้เตรียม/ปรุงอาหารต้องล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมปรุงอาหาร และหลังใช้ห้องส้วม
9.ผู้เตรียม/ปรุงอาหารไม่ใช้มือหยิบจับอาหารปรุงสำเร็จ
ตัวอย่างเมนูอาหารใน 1 วัน ช่วงที่อยู่บ้าน
– อาหารเช้า ข้าวกล้องต้มหมูใส่เห็ด หรือแซนด์วิชทูน่าผักกาดหอม หรือข้าวต้มเลือดหมูใส่ตำลึง
ตบท้ายด้วย มะละกอ 6 ชิ้นคำ หรือกล้วยน้ำว้า 1 ผล
– อาหารว่างเช้า นมสดรสจืดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย 1 แก้ว
– อาหารกลางวัน ราดหน้าหมูเห็ดหอม หรือข้าวหมูอบกระเทียมพริกไทยใส่ถั่วลันเตา
หรือข้าวผัดกะเพราไก่ใส่ข้าวโพดอ่อนถั่วฝักยาว ตบท้ายด้วยแก้วมังกร 6 – 8 ชิ้นคำ หรือชมพู่ 2 ผล
– อาหารว่างบ่าย มันต้มขิง หรือขนมจีบหมู 2 ชิ้น พร้อมด้วยส้มเขียวหวาน 1 ผล หรือแตงโมหั่นสามเหลี่ยม 2 ชิ้น
– อาหารเย็น ข้าวกล้อง ต้มจืดผักกาดขาวไข่น้ำ ปลาผัดขึ้นฉ่าย หรือข้าวกล้อง แกงส้มปลาช่อนผักรวม ผัดกะหล่ำปลีกุ้ง
ตบท้ายด้วยฝรั่งครึ่งผล หรือส้มโอ 2 กลีบ