พฤติกรรมการกินของคนไทยในปัจจุบันพบว่าเรากินเค็มมากเกินไป สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้ว่า
ในอาหารมีปริมาณเกลือ หรือโซเดียมมากน้อยแค่ไหน การลดพฤติกรรมกินเค็มจะส่งผลดีต่อสุขภาพ
ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งวิธีที่จะช่วยลดการได้รับโซเดียมนั้นสามารถทำได้ตามนี้เลยค่ะ
1. อ่านฉลากอาหาร และเลือกซื้ออาหารที่มีโซเดียมต่ำ
2. ลดการเติมเครื่องปรุงที่มีโซเดียม เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม และผงชูรส เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป ไม่ว่าเป็นอาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลาร้า เต้าเจี้ยว
4. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด
5. หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด เนื่องจากมีโซเดียมและไขมันทรานส์ในปริมาณสูง
6. หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยว รวมถึงขนมอบที่มีการใส่ผงฟู เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมสูง
7.หลีกเลี่ยง อาหารตากแห้ง เช่น กุ้งแห้ง ปลาสลิดตากแห้ง ปลาหมึกตากแห้ง หมูแดดเดียว

คนไทยส่วนใหญ่บริโภคเครื่องปรุงทุกวันซึ่งเครื่องปรุงที่นิยมมากที่สุดคือ น้ำปลา รองลงมาคือ ซีอิ๊วขาว เกลือ
กะปิ ซอสหอยนาง ตามลำดับ
ส่วนอาหารสำเร็จรูปที่คนไทยนิยมมากที่สุด คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,200 มิลลิกรัมต่อซอง
รองลงมาคือ ปลากระป๋อง ซึ่งหากบริโภคเกลือและโซเดียมมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองแตก และโรคไตวายเรื้อรัง
ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วหันมาลดการบริโภคเค็ม ไม่ปรุงรสตามใจชอบ เลือกรับประทานอาหารสด
หรือผ่านการแปรรูปน้อยที่สุดเพียงเท่านี้เราก็จะมีสุขภาพที่ดีห่างไกลโรคค่ะ