หนังสารคดี Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์
Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์” เป็นหนังสารคดีเรื่องที่ 3 ที่ได้ดูในรอบ 3 ปี (สองเรื่องก่อนหน้านั้นได้แก่ “เด็กโต๋” กับ “เสือร้องไห้”) เมื่อนับหนังสารคดีของต่างประเทศอีกราว 2-3 เรื่อง
เหตุที่มีการสร้างหนังสารคดี (และออกเผยแพร่) ออกมาจำนวนน้อยก็น่าจะเป็นเพราะมีคนต้องการดูน้อย และเหตุที่คนดูที่ต้องการดูมีจำนวนน้อยก็น่าจะเป็นเพราะหนังสารคดีเป็นหนังที่ยืนอยู่สุดปลายของสไตล์เหมือนจริง
นั่นคือการเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เป็นเหตุการณ์จริง (ไม่ใช่เรื่องแต่งหรือเรื่องสมมติ) และถ่ายทอดอย่างเหมือนจริง เช่น ไม่เน้นการจัดแสง และการปรุงแต่งองค์ประกอบทางกายภาพ
โดยความคิดพื้นฐานก็คือ การนำเสนอสิ่งที่ผู้สร้างหนังได้ “ค้นพบ” และถ่ายทอดออกมา ไม่ใช่เรื่องราวที่ “กำหนดขึ้น” สำหรับคนดูผู้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้าย สิ่งที่พวกเขาปรารถนาก็คือ การเดินเข้าไปในที่มืดเพื่อหลีกหนีความจริง
ถ้าหากพวกเขาต้องยอมจ่ายเงินเพื่อดูหนังที่เป็นเหตุการณ์จริงไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีบทฯ ไม่มีดารา และแน่นอน-ไม่มีการแสดงเรื่องนั้นต้องมีความน่าสนใจและมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง
ตอนแรก หลังจากได้รับรู้ข่าวสารทั้งการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ผมไม่แน่ใจว่าอยากจะดูเรื่องจริงแบบนี้หรือไม่ แต่หลังจากได้ดูหนัง เพียงแค่ผ่านไปประมาณ 30 นาที ผมสามารถบอกตัวเองล่วงหน้าเลยว่าจะมีความสนุกสนานรออยู่อีกในหลายสิบนาทีที่เหลือ
ความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการได้ดู “Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์” ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกผู้ที่เป็นตัวนำเรื่อง (สุวิกรม อัมระนันทน์) ที่มีลักษณะโดดเด่น ประกอบกับครอบครัวที่สนับสนุนทำให้เกิดสีสัน
โดยสีสันและเสน่ห์ของหนังเกือบทั้งหมดมาจากบทสนทนาระหว่างเปอร์ (สุวิกรม) กับแม่ของเขา เช่น ตอนที่เขาถามแม่ว่า พ่อแม่รักกันเพราะอะไร แล้วตามด้วยความเห็นของเขาที่มีต่อแม่ว่าตอบไม่ตรงประเด็น หรือฉากที่ถามแม่ว่า “คนโบราณ” ที่แม่อ้างถึงนั้นเป็นใคร ชื่ออะไร? (ทองเหม็น? ทองดี?) เป็นบทสนทนาที่มีสีสันและกระตุ้นอารมณ์ขันได้มากกว่าบทพูดที่มีคนเขียนบทฯ มือดีเป็นผู้เขียนเสียอีก
ในส่วนที่เกี่ยวกับการสอบ การใช้ชีวิตนอกห้องเรียนและกลุ่มเพื่อนนั้น น่าจะเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์โหยหาอดีตได้อย่างวิเศษ โดยเฉพาะช่วงที่พวกเขาเดินทางไปเที่ยวทะเลแล้วมีฉากนั่งล้อมวงเปิดใจกันว่า อยากจะเป็นอะไรในอนาคต (ฉากนี้มีบทสนทนาเด็ดๆ เกี่ยวกับ นายกฯ กับยามด้วย)
นอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว สิ่งที่ได้จากหนังก็คือการได้เห็นว่าเด็กต้องเผชิญกับอะไรบ้างในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยและเห็นได้ชัดเจนว่าเด็กต้องสูญเสียความเป็นเด็ก เผชิญสภาวะตึงเครียด และจำเป็นต้องเลือกสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้จักมันดีพอ และที่สำคัญก็คือพวกเขาต้องก้าวไปบนความคาดหวังของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
ดูแล้วสามารถบอกได้ว่าเป็นหนังที่ลงตัวทั้งในแง่เนื้อหาสาระและความบันเทิง และถ้าให้บอกอย่างตรงไปตรงมา ผมว่าหนังสารคดีเรื่องนี้สนุกสนานเพลิดเพลินกว่าหนังบันเทิงประมาณสัก 30 เรื่องที่ผมได้ดูเมื่อปีที่แล้ว และหลังจากดู “ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์” ก็เกิดความคิดว่า ขนาดชีวิตเด็กเอ็นท์ยังออกมาสนุกขนาดนี้ ถ้าไปตามติดชีวิตส.ส.จะสนุกสนานขนาดไหน
รีวิวหนัง โหด มัน ฮา แบบไม่เหมือนใคร เอาใจคนชอบบทสรุปของหนังไทย หนังเทศ หนังชนโรง หนังออนไลน์ ไปจนถึงหนังฮิต ติดลมบน ของ Netflix ติดตามอ่านทั้งหมด ได้ที่ have-a-look.net