ครูโอ๊ะ แนะสถาบันการศึกษาทางไกล จัดระบบรับนักศึกษาด้วยระบบที่เข้าถึงง่าย
ลั่นช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาด การจัดการศึกษาผ่านระบบออนไลน์จำเป็น
ชูยึดหลัก “เรียนรู้ ปรับใช้ ต่อยอด พัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืน”
(24 พฤษภาคม 2564) นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปติดตามการเตรียมการ
เปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 ของสถาบันการศึกษาทางไกล
โดยมีนางตติยา ใจบุญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษาสำนักงาน กศน.
นายณัฐพงษ์ รงคะวิรุจน์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล นางกาญจนา สุขประเสริฐ
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์
ผอ.กศน.กทม. และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ที่สถาบันการศึกษาทางไกล ชั้น 9 อาคาร 5
ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (เอกมัย)
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า สถาบันการศึกษาทางไกล มีแผนการเรียนหลายรูปแบบ
ทั้งในแผนทั่วไป แผนเพื่อการศึกษาต่อ (เรียนด้วยตนเอง) และแผนเพื่อการศึกษาต่อ
(มีการเรียนรู้เพิ่มเติม สำหรับนักศึกษาที่ต้องการติวเข้ม) เพื่อรองรับผู้เรียนทั้งในประเทศ
และต่างประเทศกว่า 135 ประเทศ จึงควรออกแบบและจัดทำระบบการรับสมัครเรียนนักศึกษา
และผู้สนใจ ให้เข้าถึงได้ง่าย ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อจัดการศึกษาให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม
โดยเฉพาะการออกแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ทั้งหลักสูตรการศึกษานอกระบบ
ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ
และหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง (ระยะสั้น) รวมทั้งการเรียนแบบเฉพาะกลุ่ม
ส่วนข้อคำถามของผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล ในเรื่องของการเวลาเรียนออนไลน์
ในสถานการณ์โควิด-19 ปรับเป็นชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) นั้น
คงจะต้องยึดระเบียบของ กศน.เป็นหลัก หากระเบียบให้ทำได้ ก็สามารถปรับเป็นชั่วโมง กพช.ได้
แต่สิ่งสำคัญคือต้องถูกต้องตามระเบียบของ กศน. และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การศึกษาด้วยระบบออนไลน์ จึงถือว่ามีความจำเป็น และเป็นรูปแบบที่เหมาะสมตามบทบาทของ กศน.
ในการทำให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ในทุกที่ทุกเวลา และสิ่งสำคัญคือ เราต้องสร้างการยอมรับ
สร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร รวมทั้งจะนำเสียงสะท้อนของศูนย์การศึกษาทางไกล
เรื่องขาดแคลนข้าราชการแทนตำแหน่งที่ว่างในหลายอัตรา เพื่อไปแก้ไขในระดับนโยบาย ขอฝากหลักการทำงาน
“เรียนรู้ ปรับใช้ ต่อยอด พัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืน” สู่การทำงานท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19
อย่างเข้มแข็ง เพราะต้องยอมรับว่าในโลกนี้ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง แต่เราต้องนำความรู้ความชำนาญที่มีอยู่
มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามนโยบายวาระเร่งด่วน (Quick win)
ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ได้มากที่สุด” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนนั้น ได้มีการกำชับให้ครูจัดระบบผ่านทางออนไลน์
โดยในปีการศึกษา 2564 มีนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียน ภาคเรียนที่ 1/2564 กับสถาบันการศึกษาทางไกล
จำนวน 2,480 คน เป็นนักศึกษาระดับประถมศึกษา 115 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 774 คน
และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1,591 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาทั่วไป รองลงมาเป็นทหารกองประจำการ
(579 คน), ภาคภาษาอังกฤษ (EP), คนไทยในต่างประเทศ, กลุ่มเปราะบาง ด้อยโอกาส และผู้ป่วยติดเตียง ตามลำดับ
ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทางไกล ถือเป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษารองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
ได้อย่างแท้จริง และบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายที่ดีหลากหลายภาคส่วน
จึงมีแผนที่จะจัดทำความร่วมมือในการจัดการศึกษาทางไกล อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ กรมราชทัณฑ์,
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พม.),
สมาคม EIS แห่งประเทศไทย, ศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน, โรงเรียนต้นแก้วผดุงวิทยาลัย (อบจ.เชียงใหม่),
โรงเรียนสามพรานวิทยา, โรงเรียนศีลาจารย์พิพัฒน์ (มัธยม) เป็นต้น.