ปลาไทยก็มีโอเมก้า 3 คุณภาพดี ที่ช่วยทำให้สุขภาพและสมองทำงานได้ดีไม่แพ้ใครนะคะ
ทำความรู้จัก โอเมก้า 3 (Omega-3)
โอเมก้า 3 (Omega-3) เป็นกรดไขมันจำเป็น ที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกาย
แต่เป็นกรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้ด้วยตนเอง ดังนั้น เราจึงต้องรับประทานอาหาร
ที่มีส่วนผสมของโอเมก้า 3 เช่น เนื้อปลา เมล็ดพืช ธัญพืช ต่างๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
ประโยชน์ของโอเมก้า 3
– ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมองและจอประสาทตาของทารกในครรภ์และเด็กเล็ก ๆ
– ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลดการหดตัวของหลอดเลือด
ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ยากขึ้น
– ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
– ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ
– ช่วยกระตุ้นการสร้างสารเคมีซีโรโทนินในสมองช่วยต้านอาการซึมเศร้า
– ช่วยลดอาการอักเสบ โอเมก้า 3 มีคุณสมบัติช่วยลดการผลิตโมเลกุลและสารที่เกี่ยวข้องกับอาการอักเสบ
เช่น เอโคซานอยด์ (Eicosanoids) ไซโตไคน์ (Cytokines) เป็นต้น และยังช่วยลดอาการอักเสบเรื้อรังของโรคต่าง ๆ
– สามารถต่อสู้กับโรคภูมิแพ้ตัวเองได้หลายชนิด เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 1 โรคไขข้ออักเสบ
โรคลำไส้ใหญ่ และโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น
โอเมก้า 3 ในปลาไทยและปลาเทศมีปริมาณต่างกันไหม
เรามักเข้าใจว่า โอเมก้า 3 มีอยู่แต่ในปลาทะเลน้ำลึกของต่างประเทศเท่านั้น แต่ในความจริงแล้ว
ปลาน้ำจืดของไทยก็มีโอเมก้า 3 สูงไม่แพ้ปลาทะเลจากเมืองนอก และมีราคาที่ถูกกว่า
เช่น ปลาทู มีโอเมก้า 3 ประมาณ 1,636 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม (ตามตาราง)
ในขณะที่ปลาแซลมอนมีโอเมก้า 3 ประมาณ 1,000-1,700 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม
ดังนั้นการเลือกกินปลาไทยจึงทำให้เราได้โอเมก้า 3 ไม่ต่างจากการกินปลาแซลมอน
ตารางแสดงปริมาณโอเมก้า 3 ในปลาบางชนิด
ลำดับที่ ชนิดปลา ปริมาณโอเมก้า 3 (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม)
1. ปลากระพงแดง 459
2. ปลากระพงขาว 360
3. ปลาจะละเม็ดขาว 430
4. ปลาช่อน 1,052
5. ปลาดาบเงิน 516
6. ปลาดุกอุย 258
7. ปลาทู 1,636
8. ปลาน้ำดอกไม้ 765
9. ปลาเนื้ออ่อน 622
10. ปลาสวาย 2,111
11. ปลาอินทรีย์ 882
ที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ควรกินปลาอย่างน้อย 2-3 มื้อต่อสัปดาห์และการกินปลาอย่างสม่ำเสมอยังจะช่วยให้ได้รับโอเมก้า 3 เพียงพอ
โดยไม่จำเป็นต้องกินน้ำมันปลาหรือวิตามินเพิ่ม