โรคความดันโลหิต
อย่างที่ทราบกันว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
แต่ขณะเดียวกันโรคความดันโลหิตต่ำก็เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพที่เราไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน
ส่วนใหญ่คนที่มีอาการของโรคความดันโลหิตต่ำ…มักจะเกิดกับคนอายุน้อย และเพศหญิงก็มีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชายด้วย
สำหรับความร้ายแรงของโรคอาจไม่มีอันตรายมากเหมือนกับความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายกว่า
แต่ถ้าเรามีอาการของโรคนี้อยู่ก็ไม่ควรมองข้ามที่จะดูแลร่างกาย เพราะหากปล่อยให้อาการกำเริบขึ้นมา
ในยามที่ภาวะร่างกายต้องทำงานหนักหรือสภาพจิตใจกำลังเครียด อาจส่งผลร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

การกินอาหารก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรระวัง เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการความดันต่ำขึ้นมาได้
แล้วอาหารแบบไหนที่ควรกินหรือไม่ควรกินล่ะ…ง่ายๆ คือ ในแต่วันละพยายามกินอาหารที่มีประโยชน์
ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ถูกหลักโภชนาการ กินอาหารที่ย่อยง่ายและหลากหลาย

อาหารที่มีสารอาหารสำคัญที่ช่วยในการควบคุมความดันโลหิต
ให้อยู่ในระดับปกติ โดยอาหารแก้ความดันต่ำที่กล่าวถึงมีดังต่อไปนี้
1. แคลเซียม มีอยู่มากในน้ำส้มคั้นสด เมล็ดงา ผักคะน้า บรอกโคลี ข้าวโอ๊ต
ถั่วขาว ถั่วแระ นมถั่วเหลือง อัลมอนด์ เต้าหู้ ปลาแซลมอน และปลาซาร์ดีน
2. โพแทสเซียม แหล่งอาหารที่สำคัญ อาทิ ผงโกโก้ ลูกพรุนอบแห้ง ลูกเกด
เมล็ดทานตะวัน อินทผาลัม ปลาแซลมอน ผักโขมสด เห็ด กล้วย และส้ม
3. กรดโฟลิก พบได้มากในผักและผลไม้ที่มีสีเขียวและสีเหลือง ผลิตภัณฑ์จากถั่วต่างๆ
ปลา นมสด โยเกิร์ต ไข่แดง ตับสัตว์ ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ และขนมปังโฮลวีต
4. กรดอะมิโน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นมสด เครื่องใน ข้าวสาลี ถั่วพี ถั่วเหลือง เนย
ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ฯลฯ
5. วิตามินบี 1 อาทิ ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์
ลูกเดือย ขนมปังโฮลวีต ซีเรียล ไข่ ปลา นมสด ผักใบเขียว มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ส้ม และมะเขือเทศ
6. วิตามินบี 12 อาหารที่มีมากคือตับและไตของสัตว์ ไข่ ปลา เนยแข็ง เนื้อสัตว์
หอยนางรม ปลาซาร์ดีน สาหร่ายทะเล ซีเรียล โยเกิร์ต และนมสด
7. วิตามินซี ส่วนใหญ่มักพบในผลไม้ประเภท เงาะ ฝรั่ง กีวี ลิ้นจี่ ส้มโอ พุทรา มะขามป้อม
มะขามเทศ มะละกอสุก และสตรอว์เบอร์รี
8. วิตามินอี มีมากในผลไม้ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สุก มะม่วงยายกล่ำ มะม่วงเขียวเสวย
มะเขือเทศราชินี มะละกอสุก กล้วยไข่ มะปรางหวาน มะยงชิด แคนตาลูปเนื้อเหลือง
และสับปะรดภูเก็ต
9. ชาโสมและชาขิง เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยได้ในกรณีที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
และยังช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากอาหารแก้ความดันต่ำที่กล่าวมาแล้ว
– ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
– ระมัดระวังเมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปท่าอื่น โดยเฉพาะขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน
– หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
– ขณะขับถ่าย ไม่ควรเกร็งท้องหรือตึงเครียดมากเกินไป
– ควรลดการกินอาหารที่มีรสจัด เค็มจัด หวานจัด หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ กะทิ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
หรือมีสารกาเฟอีนสูงก็ควรดื่มให้น้อยลง