“ตรีนุช” ให้กำลังใจครูฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ย้ำไม่ต้องกังวล เสมา 1 ฉีดแล้วไม่มีผลข้างเคียง
กำชับจัดการเรียนรู้ควบคู่ความปลอดภัย มั่นใจ 1 มิ.ย.นี้ ทุกพื้นที่พร้อมเปิดเทอม
โดยประเมินได้เองว่าควรจัดการเรียนการสอนรูปแบบใด หรืออาจผสมผสานทั้ง 5 รูปแบบได้ ไม่ว่าจะเรียนที่โรงเรียน
เรียนผ่าน DLTV เรียนผ่านแอปฯ เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเรียนที่บ้านด้วยเอกสาร
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมชมการฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา โควิด 19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อาสาสมัคร และกลุ่มอาชีพเสี่ยง
โดยมีครูจากโรงเรียนพญาไท ร่วมรับการฉีดวัคซีนด้วย รมว.ศธ. กล่าวว่า ต้องการมาให้กำลังใจครูและบุคลากรทางการศึกษา
โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความห่วงใยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเพื่อนครู เนื่องจากใกล้ถึงวันเปิดภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2564 หรือวันที่ 1 มิถุนายนนี้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้อนุมัติหลักการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจ
สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง นักเรียน และตัวครูเอง ว่า เราทำการเรียนการสอนภายใต้ความปลอดภัย
ทั้งนี้ จะเริ่มฉีดวัคซีนให้ครูในพื้นที่สีแดงเข้มก่อน จากนั้นจะกระจายครอบคลุมทุกภูมิภาคเป็นลำดับต่อไป
ซึ่งคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติกำลังอยู่ระหว่างการจัดสรรวัคซีน คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้
ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกพื้นที่ ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้น่ากลัว
เพราะตนฉีดมาแล้ว ไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไร
สำหรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิ.ย.2564 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไม่ได้หมายความว่า
ทุกโรงเรียนจะต้องให้ครูและนักเรียนไปโรงเรียนพร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะแต่ละโรงเรียนสามารถเลือกรูปแบบ
การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่และความพร้อมของสถานศึกษา
โดย ศธ.มีการเตรียมการเรียนการสอนไว้ 5 รูปแบบ คือ เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค.
เรียนผ่าน DLTV, เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ, เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต , เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน
และในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ มั่นใจว่าในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เราสามารถขับเคลื่อนเรื่องการเรียนรู้ของเยาวชนได้
ในรูปแบบที่เหมาะสมและเน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง โดยได้กำชับให้ศึกษาธิการจังหวัด
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ประเมินว่าในพื้นที่นั้น ๆ
สามารถจัดการเรียนการสอนได้ในรูปแบบไหน ครูสามารถออกแบบการจัดการศึกษาให้เหมาะสมโดยอาจผสมผสาน
ทั้ง 5 รูปแบบได้ และที่สำคัญ ไม่ว่าโรงเรียนจะเลือกรูปแบบใดก็ตาม จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการ
โรคติดต่อจังหวัดก่อน