สุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกวัยยิ่งในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นประสิทธิภาพ
หรือระบบการทำงานของร่างกายก็จะเสื่อมลงโดยเฉพาะเรื่องกระดูก เมื่อสูงอายุขึ้นกระดูกก็จะเสื่อมสภาพไปตามวัย
รวมถึงการขาดการออกกำลังกาย การดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย เป็นต้น

ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมกระดูกน้อยเกินไป
ในขณะที่กำลังเจริญเติบโต หรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากหลังจากเจริญเติบโตเต็มที่แล้วทำให้กระดูกเปราะบาง
ไม่สามารถรับน้ำหนัก และแตกหักตามมาอาจเกิดมาจาก 2 ปัจจัย คือ พันธุกรรมและการดำเนินชีวิตที่มีผลต่อการ
เกิดภาวะกระดูกพรุนได้เร็วขึ้น โดยปกติมักพบมากในเพศหญิงแต่เพศชายสามารถพบได้ 20 เปอร์เซ็นต์ โรคนี้ส่วนใหญ่
มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนและผู้สูงอายุแต่ก็สามารถพบได้ในวัยหนุ่มสาว และสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดยากระดูกพรุน
เพื่อลดอาการปวด เสริมความแข็งแรงและป้องกันการหักและชะลอการสลายของมวลกระดูก
แนวทางการป้องกันโรคกระดูกพรุนโดยไม่ต้องฉีดยากระดูกพรุน
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และแต่ละหมู่ควรหลากหลาย
2. ดื่มนมร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำทุกวัน
(ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการประมาณ 800–1200 มิลลิกรัม/วัน)
– นมรสจืดเหมาะกับวัยเด็กและวัยรุ่นในปริมาณ 2-3 แก้ว(กล่อง)/วัน
– นมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนยเหมาะกับวัยผู้ใหญ่หรือสูงอายุในปริมาณ 1-2 แก้ว(กล่อง)/วัน
– ผู้ที่มีปัญหาการย่อยโปรตีนในนม (ดื่มนมแล้วท้องอืด ท้องเสีย) ควรเลือกรับประทานโยเกิร์ต งาดำ หรืออาหารที่มีแคลเซียมสูงทดแทน
3. รับประทานผักและผลไม้สดเป็นประจำทุกมื้อ
4. ควรรับประทานปลาเป็นประจำ เพราะมีวิตามินดีช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี
5. หลีกเลี่ยง การดื่มชา กาแฟ เพราะทำให้ขับแคลเซียมออกนอกร่างกายมากขึ้น
6. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที โดยเลือกวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะกับภาวะร่างกาย
เพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในร่างกาย