สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะทำงานพิจารณาจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา
สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา พ.ศ. … ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ โดยมี รองศาสตราจารย์
ดร. นายแพทย์ ชัยเลิศ พิชิตพรชัย เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยรองเลขาธิการสภาการศึกษา
(ดร.พีระศักดิ์ รัตนะ) และคณะทำงาน ร่วมหารือ
ในการประชุมร่วมกับคณะทำงานพิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. …
ที่ผ่านมานั้นได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย (มท.)
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ประสานและหาแนวทาง
การทำงานร่วมกันที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา
รวมถึงได้พิจารณากฎหมายหลากหลายฉบับโดยมุ่งเน้นที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลบุคคลและอาชญากรรมไซเบอร์เป็นหลัก
และที่ประชุมได้มีการเสนอให้ขยายฐานข้อมูลเพิ่มเติมจากเดิมระดับมัธยมศึกษาเป็นระดับบอุดมศึกษาเพื่อให้ครอบคลุมการศึกษา
ทุกระดับและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ที่ประชุมหารือร่วมกันและพิจารณาแนวทางจัดตั้ง
สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา ตามร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ฉบับปรับปรุง
(ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร) โดย ศาสตราจารย์ ดร. กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ คณะทำงานร่างแผนปฏิรูป ฯ
มีข้อเสนอให้ออกกฎหมายในรูปแบบพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)
สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาเป็นองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์กรมหาชน พ.ศ. ๒๕๕๒
มุ่งพัฒนาสื่อและนวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลที่มีคุณภาพ เหมาะกับการศึกษาทุกระดับ ศึกษาวิจัย วิเคราะห์
เพื่อวางระบบและกลไกในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา ประสานเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พัฒนารวบรวม จัดทำมาตรฐานตรวจสอบ ส่งเสริมประสิทธิภาพการศึกษา และประเมินผล เผยแพร่เพื่อปรับเปลี่ยน
การจัดการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีในการศึกษาในภาวะปกติใหม่ (New Normal)ไปสู่การปฏิบัติจริงทั้งในระดับประเทศ
และระดับนานาชาติตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยี ฯ ขึ้นใหม่โดยไม่ควบรวมกับหน่วยงานอื่นใด เพื่อรับผิดชอบดูแลงานของสถานบัน ฯ
โดยตรง แต่ก็ยังมีข้อกังวลถึงข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องจำนวนและคุณภาพของบุคลากร อีกทั้งเรื่องเงินงบประมาณ
ในการจัดตั้งองค์กร รวมถึงมีข้อกังวลถึงขอบเขตงานที่กว้างเกินไปอาจส่งผลให้การดำเนินงานไม่ชัดเจนจึงมีการเสนอให้มีแนวทาง
การบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อไม่ให้งานทับซ้อนกับหน่วยงานด้านสถาบันเทคโนโลยีที่เคยมีอยู่ก่อนแล้ว
และลดปัญหาการทำงานที่ไม่เกิดผลลัพธ์เท่าที่ควรในอดีตให้เกิดผลที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง อีกทั้งต้องประสานกับภาคเอกชนมากขึ้น
เพื่อนำหลักการทำงานมาประยุกต์กับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพในให้เกิดสูงสุดต่อไป