รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาพบปะและร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาพบปะและร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายการจัดการศึกษา 12 ประการ และมีวาระเร่งด่วน 7 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมการศึกษาในทุกระดับ โดยการเดินทางมาพบปะผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ มีความตั้งใจที่จะนำความปรารถนาดีและข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ ประกอบด้วย
1) การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเน้นย้ำการบูรณาการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเร็ว ๆ นี้
2) การกำกับดูแลมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมของครูอาจารย์ ที่ประพฤติปฏิบัติต่อเด็กนักเรียน ทั้งเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียน การจัดกิจกรรมรับน้อง เป็นต้น
3) การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและหน้าที่พลเมือง
4) การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนในทุกวิชา
5) การพัฒนาและยกระดับการอาชีวศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างอาชีพให้กับคนในประเทศ โดยส่งเสริมให้คนเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น และเสนอแนวทางการทำงานที่ชัดเจนภายหลังจบการศึกษา ทำให้เด็กอาชีวะมีความก้าวหน้าในสายอาชีพ
6) การสานต่อการเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนทุกกลุ่ม
7) การส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งจัดการศึกษาให้กับคนทุกช่วงวัย และที่ผ่านมา กศน. ก็มีการพัฒนาไปมากในหลาย ๆ ด้าน
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายภายใต้แนวคิด” TRUST” หรือ “ความไว้วางใจ” โดย T ย่อมาจาก Transparency (ความโปร่งใส), R ย่อมาจาก Responsibility (ความรับผิดชอบ), U ย่อมาจาก Unity (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว), S ย่อมาจาก Student-Centricity (ผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา) และ T ย่อมาจาก Technology (เทคโนโลยี) ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาล ทำให้คนในแวดวงการศึกษาไว้วางใจในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ และร่วมผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ ปัจจุบันมีสถานศึกษา จำนวน 42,991 แห่ง มีครูและบุคลากรทางการศึกษามากกว่า 600,000 คน และมีนักเรียนทุกระดับกว่า 9.7 ล้านคน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดการจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย พร้อมพัฒนาการศึกษาให้สอดรับกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาอย่างรอบด้าน